ความเป็นมา
ตามที่ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มีกิจกรรมและโครงการย่อย คือ โครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ลดใช้พลังงาน การจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินการคัดเลือกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในระดับประถมศึกษาเป็นเขตนำร่องและต้นแบบของศูนย์การเรียนรู้ฯ ทั่วประเทศ ซึ่งมีเกณฑ์การคัดเลือกจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีความสมัครใจ มีความพร้อมด้านสถานที่ และบุคลากรที่มีความเข้มแข็ง สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการลดใช้พลังงาน การจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ระดับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 3 มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการลดใช้พลังงาน การจัดการขยะ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุน ในการพัฒนาบุคลากร ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 3 มีแนวดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง จากปี พ.ศ.2556 และวางแผนในอนาคตสู่ความยั่งยืนถึงปี พ.ศ.2568 ดังนี้
ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2556-2557) : พัฒนาบุคลากรในสำนักงานเพื่อกระตุ้นให้การดำเนินการเป็นหน่วยงานและบุคลากรต้นแบบด้านการลดใช้พลังงาน การจัดการขยะและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ด้วยกระบวนการอบรม ประชุมเชิงปฏิบัติการฯ การศึกษาดูงานและการติดตามประเมินผลการนำความรู้ของบุคลากรมาประยุกต์ใช้ สรุปผลการดำเนินงาน พบว่า ร้อยละ 80 ให้มีบุคลากรต้นแบบและมีความรู้
ความเข้าใจ ด้านการลดใช้พลังงาน ร้อยละ 65 บุคลากรได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้ที่สำนักงานและที่บ้าน
ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2558 - 2559) : พัฒนาบุคลากรในระดับโรงเรียนและพัฒนาหลักสูตรด้านการลดใช้พลังงาน การจัดการขยะและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การจัดทำคู่มือโดยใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน ครูในโรงเรียนนำร่องและบุคลากรต้นแบบของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 3 เพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ลดใช้พลังงาน การจัดการขยะและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แบ่งเป็นฐาน ดังนี้ (1) ฐานศาสตร์พระราชา...สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (2) ฐานโลกไร้ตะวันสะกิดคิดพิชิตโลกร้อน (3) ฐานน้ำใช้รู้ใช้น้ำ (4) ฐานพลังงานเพื่อชีวิต (Energy for Life)(5) ฐานบ้านประหยัดพลังงาน (6) ฐาน Zero Waste (7) วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (LCA) และ (8) ฐานอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2562–2561) ขยายองค์ความรู้และรองรับนักเรียน บุคลากรทางการศึกษา ครู ชุมชน ให้ใช้ประโยชน์จากศูนย์การเรียนรู้โดยใช้ช่วงเวลา เสาร์–อาทิตย์ (เต็มวัน) (อังคาร–ศุกร์) ในช่วงของการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ สู่การต่อยอดด้านการสร้างความตระหนัก และการนำไปใช้ในโรงเรียน บ้าน ชุมชน ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของจังหวัดขอนแก่น และภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้จัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันเปิดศูนย์การเรียนรู้ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560
ระยะที่ 4 (พ.ศ.2563-2565) ส่งเสริมพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรให้มีความหลากหลายขยายฐานการเรียนรู้เป็น 10 ฐานให้เหมาะสม กับกลุ่มเป้าหมาย และนิเทศ ติดตาม จัดกิจกรรมขยายผลการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และสอดคล้องกับศูนย์การเรียนรู้ในโรงเรียนและชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ระยะที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2568) ส่งเสริมการพัฒนาวิทยากรทั้งนักเรียนและครูในโรงเรียนแกนนำสิ่งแวดล้อมศึกษา การพัฒนาหลักสูตรของฐานการเรียนรู้ 10 ฐาน ที่เน้นการปฏิบัติจริง(Active Learning) การพัฒนาสื่อและเทคโนโลยี 4.0 สู่ Smart Learning Center การส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้โรงเรียนทั้งในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 3 และโรงเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาใช้บริการแหล่งเรียนรู้ของศูนย์การเรียนรู้ลดใช้พลังงาน การจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้จะทำการวิจัยเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ลดใช้พลังงาน การจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสู่ความยั่งยืน
ในการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ฯ ในปัจจุบัน เป็นระยะที่ 5 ส่งเสริมพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรให้ มีความหลากหลายเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย การพัฒนาสื่อและเทคโนโลยี 4.0 สู่ Smart Learning Center และนิเทศ ติดตาม จัดกิจกรรมขยายผลการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และสอดคล้องกับศูนย์การเรียนรู้ในโรงเรียนและชุมชน ตลอดจนการวิจัยเพื่อพัฒนางานของศูนย์การเรียนรู้ฯ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 3 ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ลดใช้พลังงาน การจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้บริการแก่ผู้บริหาร คณะครู บุคลากร นักเรียนและชุมชน สำนักงานเขตพื้นที่ทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในจังหวัดขอนแก่น ทุกเขตพื้นที่ และสำนักงานเขตพื้นที่ทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจากการดำเนินงานพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ลดใช้พลังงานฯ มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ การสร้างความตระหนักและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เป้าหมายที่สำคัญในเชิงคุณภาพ คือ ร้อยละ 80 ของนักเรียน บุคลากรทางการศึกษา ชุมชน และ ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการลดใช้พลังงาน การจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ร้อยละ 70 ของกลุ่มเป้าหมายมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้น้ำอย่างประหยัด มีการคัดแยกขยะ มีการจัดการขยะอย่างถูกวิธี รวมถึงการลดปริมาณขยะซึ่งเป็นแนวทางหลักตามนโยบายของรัฐบาล การลดใช้พลังงานและใช้ประโยชน์จากขยะรีไซเคิล เป็นพลังงานสะอาด หรือพลังงานจากขยะ จึงเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายหลักสำคัญในการลดค่าสาธารณูปโภค น้ำ ไฟฟ้า ในการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับพลังงาน การจัดการสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะตามเป้าหมายที่ยั่งยืน (SDGs)
ในปี 2567 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 3 ได้ดำเนินโครงการสร้างจิตสำนึกในการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการฟื้นฟูป่า เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้นักเรียนในสถานศึกษา และเครือข่ายชุมชน ให้เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการปลูกป่า สร้างต้นแบบแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติและการใช้ประโยชน์จากการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง อย่างถูกวิธี เพื่อขยายผลสู่โรงเรียนและชุมชนข้างเคียง และเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งดูดซับ CO2 โดยมีสถานศึกษาในสังกัด สมัครใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 121 โรงเรียน มีพื้นที่ในการปลูกป่าประมาณ 500 ไร่ นับว่าเป็นการปลูกป่าในใจเยาวชน ให้นักเรียน และเยาวชนมีความรู้ คาวมเข้าใจ การลงมือปฏิบัติสร้างจิตสำนึกในการปลูกป่า 3 อย่าง แต่ได้ประโยชน์ 4 อย่าง โดยดำเนินกิจกรรมเพื่อให้นักเรียน 1) ปลูกป่าที่ใจ ให้นักเรียนมีองค์ความรู้และเห็นความสำคัญของต้นไม้ 2) ปลูกป่าที่ท้อง เพื่อให้นักเรียนได้สร้างแหล่งอาหารและอนุรักษ์พันธุ์ไม้ แหล่งอาหารที่ได้จากพืช และ 3) ปลูกป่าที่ป่า โดยการให้นักเรียนปลูกป่า 5 ระดับ คือ ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้เลี่ยดิน และไม้ในดิน ตามรอยศาสตร์พระราชา โดยมีเป้าหมายนักเรียน 1 คน ต่อต้นไม้ 1 ต้นเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้สถานศึกษาในสังกัดมีพื้นที่ว่างเปล่าที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือบางพื้นที่มีต้นไม้เดิมแต่ขาดการจัดการที่เป็นระบบ จึงได้ดำเนินการปลูกป่าในใจเยาวชนให้เกิดความยั่งยืน